ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เผยสถาบันโลกคดีศึกษาจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในโลก
(2 สิงหาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการซีรี่ย์ไทยกับโลกและประเทศเพื่อนบ้าน : อาเซียนในยุคที่จีนกับสหรัฐขัดแย้งแข่งขันกันอย่างหนัก: มุมมองจากไทย พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และรศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการเสวนา ทั้งจากช่องทางการประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่านระบบ Zoom และทาง Facebook Lives ว่า การจัดงานในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยามดำเนินงานของ อว. ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 สถาบันโลกคดีศึกษา คือ 1 ใน 5 สถาบันของ สบว. (ธัชชา) ซึ่ง ธัชชา ในพจนานุกรม แปลว่า ผู้ถือธง ผู้นำ ผู้ทำสิ่งที่ดี จึงใช้คำว่า “ธัชชา” แทนชื่อเต็มของสถาบัน การจัดตั้ง ธัชชา นั้น เพื่อที่จะทำให้เกิดความตื่นตัว เกิดงานวิจัย เกิดการคิดค้นและเกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ อว. เป็นกระทรวงที่มีความแข็งแกร่ง 6 ขาใหญ่ คือ (1) ด้านวิทยาศาสตร์ (2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) สร้างสรรค์ (4) ศิลปกรรม (5) สังคมศาสตร์ และ (6) ศิลปศาสตร์ โดยหวังว่าจะทำให้ชาวไทยและชาวโลกได้ตระหนักว่าประเทศไทยนั้น มีวิทยาการทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มีวิวัฒนาการและมีเอกลักษณ์ ซึ่งไทยเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของโลกตั้งแต่ในยุคทวารวดี หรือยุคสุวรรณภูมิ เป็นต้น
สถาบันโลกคดีศึกษา ในฐานะที่เป็นองค์กรทางวิชาการด้านการต่างประเทศ โลกคดีจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในโลก มากกว่าการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น งานวิชาการของ ธัชชา จะทำให้ชาวไทยและชาวโลก ได้เห็นแนวคิดและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมออกมาจากสังคมไทยในวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งโลกมีส่วนต่อการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่างประเทศด้วย ทฤษฎีการต่างประเทศที่สำคัญก็ยังเป็นเรื่องที่ว่าด้วย National Power และ Balance of power แต่ทฤษฎีเรื่อง National characteristic คุณสมบัติประจำชาติ ลักษณะประจำชาติจะต้องเอามาผสมกันกับทฤษฎีที่เป็นสากล ที่ว่าด้วยผลประโยชน์แห่งชาติ ว่าด้วยการรักษาสมดุลเชิงอำนาจเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ รมว.อว. กล่าวต่อว่า สิ่งที่สถาบันโลกคดีจะดำเนินการในวันนี้และวันต่อ ๆ ไป จะยิ่งทำให้การศึกษาระหว่างประเทศไทยมีความผสมผสานกันกับลักษณะประจำชาติไทย ซึ่งในโอกาสหน้านั้นจะคุยกันในหัวข้อ Middle Power (มหาอำนาจระดับกลาง) ประเทศไทยอาจจะต้องหาช่องทางในการเป็น Middle Power ในรูปแบบที่เหมาะสม โลกมองประเทศไทยอย่างไร ประเทศไทยมีจุดแข็งอย่างไร ในการเสวนาวิชาการวันนี้ จะมีผู้นำเสนอ คือ ท่านทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ และมีผลงานการเขียนหนังสือต่างๆ และมีผู้ให้การอภิปราย คือ นายกวี จงกิจถาวร โดยผู้ที่ติดตามผ่านช่องทาง Zoom และ Facebook Lives สามารถร่วมให้ความคิดเห็นและสอบถามเข้ามาได้ตลอดเวลา
ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม ถ่ายภาพวีดิโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834 e-mail : pr@mhesi.go.th Facebook : @MHESIThailand Twiiter : @MHESIThailand Call Center โทร.1313
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?