อว. เปิดตัวสุวรรณภูมิศึกษาไร้พรมแดนในยุคดิจิทัล เพิ่มศักยภาพแพลตฟอร์มบูรณาการการศึกษาสุวรรณภูมิเชื่อมโยงโลก
วันที่ 13 มิ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน สุวรรณภูมิศึกษาไร้พรมแดนในยุคดิจิทัล (Suvarnabhumi Education beyond Frontier in Digital World) ภายใต้โครงการการเพิ่มศักยภาพแพลตฟอร์มบูรณาการการศึกษาสุวรรณภูมิเชื่อมโยงโลก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง วิทยาศาสตร์และฐานข้อมูลภูมิปัญญา เพื่อขับเคลื่อนสุวรรณภูมิศึกษา โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวง อว. เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า “สุวรรณภูมิศึกษาไร้พรมแดนในยุคดิจิทัล” เป็นการเปิดตัวแพลตฟอร์มและคลังข้อมูลออนไลน์ ของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ภายใต้วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชชา” ที่กำกับดูแลโดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว. การจัดทำแพลตฟอร์มและคลังข้อมูลออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของธัชชา เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ของประเทศทั้งเคยศึกษากันมาแล้ว และกำลังศึกษาวิจัยกันอยู่ในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศไทย อันจะเป็นคลังข้อมูลกลางขนาดใหญ่ในเรื่องนี้ ทำให้ผู้สนใจเข้าถึงได้ง่าย มีความน่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยของข้อมูล เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาวิจัยต่อยอด ยกระดับการศึกษาของประเทศ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เห็นการต่อยอดการดำเนินงานด้านสุวรรณภูมิศึกษาในวันนี้ ต้องยอมรับว่างานนี้ดำเนินการได้ค่อนข้างเร็ว ต่อจากนี้จะมีการเผยแพร่หนังสือที่เก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านสุวรรณภูมิศึกษาออกมา ซึ่งมีหลากหลายภาษา หลายคนที่เข้าใจว่าเรื่องของสุวรรณภูมิศึกษาเป็นเรื่องโบราณ แต่แท้จริงแล้วการจะศึกษา หรือรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ จะต้องอาศัยเครื่องมือ วิทยาศาสตร์ วิทยาการสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อสืบค้นข้อมูลความเป็นจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน การเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์ โดยการหยิบเอาความรู้ ข้อมูลที่ดีมาใช้ จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของคนไทยทางด้านการท่องเที่ยว ศิลปะเชิงสร้างสรรค์ก้าวกระโดดขึ้น
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า กลไกการดำเนินงานของวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ต้องทำแบบมุ่งเป้า มีทิศทางของการทำที่ชัดเจน 1. มีการรวบรวมเรื่องที่จะดำเนินการแบบรอบด้าน สะสมเป็นรูปแบบคลังความรู้ 2. ต้องขับเคลื่อนการวิจัย พร้อมหาความรู้ใหม่ ๆ 3. สร้างนักวิจัย สร้างคนรุ่นใหม่ สร้างบุคลากรที่มีความรู้ในด้านนี้ และ 4. สร้างมูลค่าให้กับงานที่ดำเนินการ โดยทั้งหมดจะต้องผสานความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัยต่าง ๆ ซึ่งจะต้องขยายเครือข่ายการดำเนินงานให้มากขึ้น เพราะงานของธัชชา ไม่ใช่งานของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างขึ้น และจะต้องเพิ่มการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?