อว. เปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” 8 ภาษา ส่งเสริมแหล่งศึกษาค้นคว้าในระดับนานาชาติที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ




อว. เปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” 8 ภาษา ส่งเสริมแหล่งศึกษาค้นคว้าในระดับนานาชาติที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง : องค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนสู่อนาคต เปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” 8 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส พม่า มลายู เขมร เวียดนาม ภายใต้โครงการ เผยแพร่และส่งเสริมองค์ความรู้งานวิจัยว่าด้วยสุวรรณภูมิ (Translation and publication new knowledge on Suvarnabhumi) โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. ผศ.ชวลิต ขาวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ม.ศิลปากร และผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา นพ.บัญชา พงษ์พานิช คณะกรรมการอำนวยการวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) นายสมปอง สงวนบรรพ์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และนางสาวฉัตต์ธิดา บุญโต ผู้อำนวยการธัชชา เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (อาคารพระจอมเกล้า) 



นายเพิ่มสุข กล่าวว่า หนังสือ สุวรรณภูมิ : แผ่นดินทอง นับเป็นหลักฐานและการรวบรวมคุณค่าสำคัญซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิปัญญาสุวรรณภูมิในเชิงประจักษ์ ทั้งจากหลักฐานต่าง ๆ ที่พบและที่ยังสืบสานต่อมาถึงปัจจุบันในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการแสดงถึงมรดกวัฒนธรรมที่ผสมผสานองค์ความรู้ระหว่าง "ศาสตร์และศิลป์" ที่สามารถนําไปสู่การพัฒนาต่อยอด ก่อให้เกิดความยั่งยืนของพื้นที่ ทั้งทางกายภาพ และทางจิตวิญญาณ สามารถสร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตของคน สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และสามารถมาพัฒนาต่อยอดเพื่อนําภูมิปัญญาดังกล่าวให้เป็นที่รับรู้ระดับโลก และเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและภูมิภาค



นายเพิ่มสุข กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. ให้ความสนใจและความสำคัญกับการค้นคว้าเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิอย่างจริงจัง เพราะดินแดนสุวรรณภูมิมีความเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่มาอย่างช้านาน พื้นที่ของสุวรรณภูมิเคยเป็นสะพานเชื่อมโลก ทั้งเรื่องของการค้า การบริการ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ และเป็นยุคที่เกิดนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา มีหลายหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้คนในดินแดนแถบนี้มีความเชี่ยวชาญในสายเลือดทั้งด้านสถาปัตยกรรม หัตถกรรม และสุนทรียศาสตร์ มาเป็นเวลานาน ไม่เพียงแต่มีความเด่นเฉพาะด้านการเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวดังที่เคยเข้าใจกันมา และความยิ่งใหญ่เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานชั้นดีในการค้นคว้าศึกษาเพื่อนำอดีตที่มีคุณค่ามาพัฒนาประเทศได้ในอนาคต  โดยมี “ธัชชา” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ




“เรื่องของ “อารยธรรมสุวรรณภูมิ” กำลังเป็นที่รู้จักของคนในระดับนานาชาติผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในรูปแบบของผลงานศึกษาวิจัย หนังสือ และสื่อในยุคดิจิทัล ในรูปแบบของแพลตฟอร์มและคลังข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก เรามีผลงานมากมายที่ล้วนแต่เป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานขีดความสามารถของนักวิชาการ และเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะศึกษาเรื่องราวในอดีตจนกลายมาเป็นผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่า รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศผ่านการเข้ามาท่องเที่ยวของผู้คนจากนานาประเทศ ซึ่งต่อไปสถาบันการศึกษาอาจจะต้องตื่นตัวในเรื่องของศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีมากขึ้น และเราจะต้องมีการยกระดับการทำงานในระดับนานาชาติ และนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น เพื่อยกระดับเรื่องของสุวรรณภูมิศึกษาขึ้นสู่ระดับโลกให้ได้” ปลัด อว. กล่าว



สำหรับหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” เรียบเรียงขึ้นจากหนังสือ “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรม เชื่อมโยงโลก (Suvarnabhumi Terra Incognita)” ภายใต้โครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศ โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งได้ข้อสรุปที่ประมวลจากผลงานการศึกษาของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชั้นนําของไทยและโลก ล้วนสรุปตรงกันว่าสุวรรณภูมิไม่ได้เป็นเพียงดินแดนในจินตนาการที่เลื่อนลอย แต่มีความเป็นไปได้มากที่มีอยู่จริง ซึ่งตั้งอยู่ ณ อาณาบริเวณระหว่างอินเดียกับจีนที่ทุกวันนี้เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์โบราณคดี หลักฐานส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า สุวรรณภูมิดำรงอยู่ในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา จนในระยะหลังเริ่มพบหลักฐานที่สอดคล้องกับที่ปรากฏในบันทึกสมัยโบราณต่าง ๆ โดยเฉพาะการพบหลักฐานใหม่ ๆ ที่มีค่าอายุสมัยใกล้เคียงสอดคล้องกัน คือ สุวรรณภูมิดำรงอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 1 – 7 อีกทั้งยังมีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาที่มีบทบาทมากต่อสุวรรณภูมิอีกด้วย



นอกจากนี้ องค์ความรู้ว่าด้วย “สุวรรณภูมิ” ยังมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ของรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาค ความสัมพันธ์ทางการเมืองและปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคนี้กับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก การเผยแพร่และส่งเสริมองค์ความรู้จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ อาทิ ความสัมพันธ์ ความเข้าใจระหว่างประเทศในระดับประชาชน การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

ดังนั้น การแปลเนื้อหาและจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่หนังสือสุวรรณภูมิเป็นภาษาประเทศ 8 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส พม่า มลายู เขมร และเวียดนาม จะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาค และนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าด้านการก่อตั้งรัฐ พัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในภูมิภาคนี้และภูมิภาคที่ห่างไกลออกไป และมีผลต่อการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศและวัฒนธรรม
This website uses cookies to help us to provide you with a good experience when you use the website and also allows us to improve the website. By continuing to use the website, you are agreeing to us placing cookies on your computer or read cookie Privacy Policy . You are agreeing to us placing cookies on your computer
ChatBot cancel

สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?

ChatBot cancel
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?
powered by Eventpass

ธัชชา มีสถานะเป็นหน่วยงานภายในระดับกองของสำนักปลัดกระทรวง อว. ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป

© 2021 TASSHA, Office of the Permanant Secretary , Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.

แอปพลิเคชั่นทั้งหมดของกระทรวง อว.

ติดตาม "ธัชชา" ได้ที่