นิทรรศการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย” เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นได้จัดนิทรรศการ และเสวนาวิชาการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” บริเวณชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร BACC เมื่อวันที่ 15-20 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
สถาบันฯได้รับเกียรติจาก องคมนตรี นายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นประธานในพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นางสิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นได้กล่าวรายงานสรุปได้ว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินภารกิจไปทุกภูมิภาค สถาบันฯได้ประจักษ์ว่าช่างศิลป์ระดับฝีมือโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่ทุรกันดารประชาชนยากจน ล้วนเป็นผลผลิตอันสืบเนื่องจากพระราชกรณียกิจด้านส่งเสริมศิลปาชีพซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงวิริยะอุตสาหะทุ่มเทกําลังพระวรกายและกําลังพระสติปัญญาเพื่อดูแลให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น งานของสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นจึงนับได้ว่าเป็นการเดินตามรอยพระบาทในพระองค์ท่านโดยแท้ หากปราศจากรากฐานที่พระองค์ทรงวางไว้ ภูมิปัญญาไทยหลายด้านคงอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการสูญหาย และลำบากยากยิ่งในการที่จะฟื้นฟู เพื่อเป็นการน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันฯจึงได้คัดเลือกผลผลิตจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัย 7 แห่ง วิทยาลัยชุมชน 11 แห่งทุกภูมิภาค ด้านงานผ้าทอ ด้านจักสานและงานแกะสลักไม้มาจัดแสดง ซึ่งมีทั้งผลงานของศิษย์และครูช่าง เพื่อเทิดพระเกียรติ พร้อมเชิดชูคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาของไทย รวมทั้งจัดเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการศาสตร์และวิทยาการด้านต่างๆ อาทิ ศาสตร์ด้านการออกแบบ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสืบสานส่งต่อมรดกภูมิปัญญาของชาติอันทรงคุณค่าให้ดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในยุคสมัยปัจจุบันและยั่งยืนไปถึงอนาคต
นายพลากร กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดด้วย ๒ เหตุผล : เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่คนไทยได้น้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระพันปีหลวงด้านศิลปาชีพและได้มาชมผลงานของเหล่าครูช่าง เช่น ผ้าทอลายจวนตานีจากปัตตานี โคมไฟกรงนกจากนราธิวาส ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดจากครูช่างศิลปาชีพ หรือผ้าทอผสมขนแกะจากแม่ฮ่องสอน นิทรรศการนี้ "หยิบยกหัวใจสิงห์ของชาวบ้านขึ้นมาให้คนไทยและคนต่างประเทศดู เพื่อให้เห็นความสำคัญของฝีมือชาวบ้าน" และเล่าว่าโชคดีที่ได้ตามเสด็จ ในฐานะผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ปัตตานี และผู้อำนวยการ ศอบต. ได้เห็นการทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ทอดพระเนตรเห็นความสามารถของชาวบ้านที่สร้างงานหัตถกรรมในยามว่างจากเกษตรกรรมได้สวยน่าอัศจรรย์ แม้จะเป็นชาวไร่ชาวนา ทั้งนี้ พระองค์ทรงติดตามงานทุกปี เมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน...พระราชทานเงินเพื่อซื้อผลงานของช่างศิลป์ด้วยราคาสูง กระแสจากชาวบ้านเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ได้ใช้เงินซ่อมแซมบ้าน ส่งลูกเรียน และพ่อบ้านที่ไปทำงานต่างประเทศสามารถกลับมาอยู่ร่วมกัน...เป็นที่มาของคำกล่าวว่า “ขาดทุนของข้าพเจ้า คือกำไรของชาติ”
ทั้งนี้ ความตอนหนึ่งในนิทรรศการ บรรยายว่า โครงการศิลปาชีพในจังหวัดต่างๆ เกิดจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรในพื้นที่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วทรงมีพระราชประสงค์ให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี บุตรหลานได้รับโอกาสทางการศึกษา ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ชาวบ้านทอผ้า จักสาน ตลอดทั้งทำงานหัตถกรรมอื่นๆ ส่งถวาย โดยพระองค์จะทรงรับซื้อ ผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงจัดตั้งขึ้น นับแล้วเป็นเวลากว่า ๕๐ ปีที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงงานทำให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟู ส่งเสริมและสืบสานมรดกภูมิปัญญางานหัตถกรรมในแต่ละพื้นถิ่นอย่างกว้างขวาง สมดังพระราชดำริที่ว่า “ขาดทุนของข้าพเจ้า คือกำไรของชาติ”
ผลสรุปจากการจัดงานคือมีผู้เข้าชมผลงานเฉลี่ยประมาณวันละ 600-700 คน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติประมาณถึง 200 คน เช่น ผู้เข้าชมงานสนใจผลิตภัณฑ์จักสานมาก เช่น ผลิตภัณฑ์ตกแต่งรูปปลาแค้ตัวใหญ่ จากวชช.ยโสธร เก้าอี้จักสานกระจูดจากนราธิวาส เสื่อ กรงแมวและตุ่มใบใหญ่จากวชช.ตราด และย่ามทอมือจากวชช.อุทัยธานี ทั้งนี้ มีผู้สนใจสั่งซื้อทันทีหลายราย ทำให้ช่างจักสานตราดได้ออเดอร์ทำโคมไฟรูปมะม่วง ช่างนราธิวาสทำเก้าอี้ ทั้งนี้ มีผู้ชมสนใจโซนภูมิปัญญาและวิทยาศาสตร์เช่นกัน ซึ่งนำเสนอโครงการวิเคราะห์การป้องกันเชื้อราในวัสดุจักสาน และโครงการย้อมสีธรรมชาติให้คงทน
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?