อาหารประจำชาติ “มายาคติ” ในกระบวนการทำให้ “หลงใหลได้ปลื้ม”
วิถีทางอาหาร (foodways) คือเรื่องราวอาหารที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คนซึ่งสะท้อนผ่านปฏิบัติการทางสังคมต่าง ๆ เช่น การคัดสรรและผลิตวัตถุดิบอาหาร การปรุงอาหาร การสร้างความเชื่อเกี่ยวกับการกิน การปฏิบัติตามประเพณี เศรษฐกิจและการเมือง ฯลฯ (Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019) ทั้งนี้จากการศึกษาทางสังคมวิทยาพบว่า ในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีทางอาหารเป็นวิธีคิดที่ได้รับความนิยมศึกษาเป็นอย่างมาก โดยช่วงต้นจะให้ความสนใจอาหารกับความสัมพันธ์ทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการมองอาหารในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มและชุมชน ก่อนขยายประเด็นศึกษาสู่เรื่องรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น รูปแบบการการปรุงแต่งและการกิน เป็นต้น รวมถึงประเด็นอาหารกับภูมิศาสตร์ความเป็นมาของสำรับอาหารซึ่งรวมถึงอาหารและอัตลักษณ์ของกลุ่ม (Hutchinson, 2003; Zafar, 2019)
จะเห็นได้ว่า วิถีทางอาหารมีความหมายใกล้เคียงกับ “วัฒนธรรมอาหาร” (แบบแผนการปฏิบัติด้านอาหาร ที่เกิดจากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมเนียมประเพณีของสังคม) เพียงแต่แนวคิดวิถีทางอาหารจะให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์อาหารกับคนที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างเป็นพลวัต โดยครอบคลุมวิถีทางอาหารระดับกลุ่มชาติพันธุ์ ชาติ ภูมิภาค และอาหารประจำชาติ (National food) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของลัทธิชาตินิยม (Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019)
ประเด็นอาหารประจำชาติกับลัทธิชาตินิยมจึงทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ ทำไมอาหารจานหนึ่ง ๆ ถึงถูกนำมาสร้างเป็นเครื่องมือของรัฐชาติในการสร้างอำนาจและมีกระบวนสร้างเช่นไร รวมถึงรัฐมีหลักการใดในการเลือกสำรับอาหารขึ้นมาเป็นอาหารประจำชาติ โดยบทความนี้จะใช้เลนส์ความคิด Modernism, Primordialism และ Ethno-symbolism (บทความนี้จะใช้คำภาษาอักฤษทับศัพท์แนวคิดดังกล่าว) เพื่อทำความเข้าใจอาหารในบริบทลัทธิชาตินิยม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนำเสนอโดย Smith (2010) ก่อนจะได้รับการพัฒนาโดยนักสังคมศาสตร์คนอื่น ๆ ในเวลาต่อมา (Hutchinson, 2003; Ichijo, Johannes, & Ranta, 2019)
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?